Writer : Suit Wongrujirawanich
หลายท่านอาจคิดว่ารูปแบบการทำงานในอนาคตคือการที่เราสามารถทำงานได้จากบ้านที่เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก
ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว
พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้เราพูดคุยหรือจัดประชุมแบบข้ามประเทศได้
แต่จากรายงานของ Harvard Business Review โดย Ben
Waber, Jennifer และ Greg Lindsay ชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานคือการที่พนักงานทุกท่านมีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากกว่าการนั่งเงียบๆอยู่คนเดียว
ด้วยเหตุนี้พื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) จึงถูกนำมาใช้เป็นแกนหลักในการออกแบบพื้นที่ทำงานเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เพื่อนๆทุกแผนกได้เข้ามาแบ่งปันไอเดียความคิดสร้างสรรค์
เปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบนั่งบนโต๊ะอยู่ในห้องเพียงคนเดียว และนี่คือ 3 ตัวอย่างงานออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ที่นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์แล้ว
ยังทำให้คนทั่วไป (โดยเฉพาะผม)
อยากเข้าไปเป็นหนึ่งในพนักงานขององค์กรเหล่านั้นด้วย
Rabbit Digital Group กับแนวคิดการออกแบบ The
Borrow โพรงกระต่ายสร้างสรรค์ที่ให้ความสำคัญกับ “พนักงาน” ทุกท่าน
โดยนำความต้องการของเขาเหล่านั้นมาเป็นปัจจัยหลักในการออกแบบพื้นที่ทำงาน
เพื่อให้เขาและเธอสามารถปลดปล่อยศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาได้เต็มร้อย Rabbit
Digital Group นำโกดังเก็บอะลูมิเนียมเก่าย่านบรรทัดทองมาปรับลุคให้กลายเป็น
Creative Space ออกแบบโดยทีมงานจาก MUN Architects ภายในยังให้ความรู้สึกเหมือนโกดังที่มีเพดานสูง แต่ถูกปรับแต่งให้โดดเด่นด้วยการเพ้นท์สีดำบริเวณโครงสร้างเหล็กพร้อมกรุช่องกระจกที่เปิดให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเพิ่มความสว่างภายในพื้นที่ทำงาน
บริเวณด้านหน้ามีต้นมั่งมี ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เพิ่มความสดชื่นพร้อมเป็นตัวกรองอากาศแบบธรรมชาติชั้นดี
ในส่วนพื้นที่ทำงาน ทีมงานเลือกใช้ ชั้นหนังสือ ตู้โชว์ และพาร์ทิชั่น
ที่มีความสูงไม่เกินระดับหน้าอก มาแบ่งพื้นที่ทำงานแทนการตีกำแพงกั้นห้องสูงๆเหมือนออฟฟิศทั่วไป
เพื่อให้พื้นที่ทำงานดูสบายๆ ไม่อึดอัด ความพิเศษของการออกแบบพื้นที่ภายในคือการสร้างพื้นที่ส่วนกลาง
(Common
Area) ที่เปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุย
พักผ่อนระหว่างวัน หรือจะเข้ามานั่งทำงานก็ได้ เช่น Cat
Walk ทางเดินยาวบริเวณชั้น 2 พร้อมโซฟาให้นั่งพูดคุย
สไลเดอร์ที่สามารถลื่นไถลลงมาจากชั้น 2 พร้อมมุมกิจกรรมอย่างลานสเก็ตบอร์ด
โต๊ะปิงปอง โต๊ะพูล ที่นอกจากจะช่วยให้น้องๆพนักงานวัย Gen Y ได้พักผ่อนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจินจนาการ อันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนองค์กรสไตล์ดิจิทัล
เอเจนซี่ ด้วย
DTAC เพื่อลดปัญหาการสื่อสารภายในองค์กรพร้อมรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ
และความเป็นหนึ่งเดียวขององค์กร DTAC จึงมีแนวคิดในการเปลี่ยนพื้นที่ทำงานให้กลายเป็นบ้านหลังที่สองของพนักงานภายใต้แนวคิด
DTAC House โดยมี Hassell Studio
เป็นผู้สร้างสรรค์สานฝันให้เป็นจริง แนวคิดนี้ตอกย้ำปรัชญาการทำงานของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ
การเล่นควบคู่ไปกับการเรียนรู้ (Play and Learn) สำนักงาน DTAC
แห่งนี้กินพื้นที่กว่า 20 ชั้น 62,000 ตารางเมตร ในอาคารจามจุรีแสควร์ หนึ่งในความพิเศษสุดของการออกแบบพื้นที่คือการปรับเปลี่ยนให้ชั้น
38 ให้เป็นพื้นที่พักผ่อนส่วนกลางของพนักงาน ไมว่าจะเป็น
ฟิตเนสเซ็นเตอร์ ห้องแอโรบิค พื้นที่สำหรับเล่นโยคะ โต๊ะปิงปอง สนามฟุตซอลในร่ม ห้องคาราโอเกะ
รวมไปถึงลู่วิ่งด้วย นอกจากนี้โซนออฟฟิศบริเวณชั้น 32 – 34 ยังถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่โปร่งโล่งสบายโดยเลือกใช้กระจกใสแทนผนังทึบพร้อมพื้นที่ทำงานแบบ
Informal กระตุ้นให้พนักงานนำคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมานั่งทำงานหรือจัดประชุมแบบสบายๆ
แทนการนั่งประจำอยู่ที่โต๊ะของตนเอง นอกจากนี้ยังมีห้องเตรียมนม และห้องเลี้ยงเด็ก
(Play Room) สำหรับคุณแม่ที่จำเป็นต้องดูลูกน้อยขณะปฏิบัติงาน
ทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยให้พนักงานมีความผ่อนคลายระหว่างการทำงานแล้ว
ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทางอ้อมด้วย
DBALP กับการนำโกดังเก่าที่ดูไร้ค่าย่านคลองสาน
ฝั่งธนฯ มาปรับปรุงใหม่ให้เกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ภายใต้ชื่อ The Jam
Factory บนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ประกอบด้วยบริษัทสถาปนิก
Duangrit Bunnag Architect Limited (DBALP) ก่อตั้งโดยดวงฤทธิ์
บุญนาค สถาปนิกและผู้ออกแบบพื้นที่, ร้านอาหาร The Never Ending Summer, ร้านหนังสือก็องดิด, ร้านกาแฟ ไล-บรา-รี่, แกลลอรี่แสดงผลงานศิลปะ และ Any Room ร้านจำหน่ายของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์
เสน่ห์ของพื้นที่แห่งนี้คือการปลุกย่านอุตสาหกรรมเก่าให้มีชีวิตอีกครั้ง โดยเชื่อมโยงเรื่องราว
วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่จากอดีตสู่ปัจจุบัน ผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรม
และงานออกแบบภายใน นอกจากพื้นที่จะติดริมน้ำเจ้าพระยาแล้ว ภายในยังมีสนามหญ้าพร้อมต้นไทรเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนแบบธรรมชาติสำหรับพนักงาน
พร้อมเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามาจัดกิจกรรมใช้พื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้ด้วย เช่น
ตลาดนัด The Knack Market ช้อปชิมงาน Art, Craft และ Street Food, งานนิทรรศการ Siamese Twins
โดยกลุ่มศิลปิน Freak Show เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า
พื้นที่ส่วนกลางที่เคยมีขนาดเล็กได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative
Space) ขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้พบปะพูดคุยระหว่างกัน
อันเป็นการส่งเสริมการสื่อสารภายในองค์กร และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ใช่ว่าทุกองค์กรจะต้องหันมาเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้มีขนาดใหญ่เหมือนกันหมด
เพราะบางกิจกรรม บางธุรกิจ อาจไม่เหมาะกับแนวคิดนี้ก็เป็นได้ การเริ่มต้นที่ดีคือการกลับมาวิเคราะห์ตัวตนของบริษัทว่าบุคลิกเป็นอย่างไร
เราอยากให้วัฒนธรรมขององค์กรเป็นแบบไหน บริษัทมีเป้าหมายการเติบโตเป็นเช่นไร ที่สำคัญเราควรศึกษาความต้องการของพนักงานด้วย
จากนั้นนำผลสรุปที่ได้มาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการออกแบบพื้นที่ทำงาน
เพราะทุกวันนี้การทำงานแบบวันแมนโชว์ไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ
ธุรกิจในอนาคตจำเป็นต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย การออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับธุรกิจจะช่วยกระตุ้นให้องค์กรเกิดบรรยากาศการทำงานอย่างสร้างสรรค์เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
แล้วบริษัทคุณหละ !!! ยังหยุดนิ่งเหมือนเคย
หรือพร้อมปรับตัวสำหรับอนาคตแล้ว
อ้างอิง : Harvard Business
Review, a day magazine, Hassell
Studio, DBALP, Facebook
- The Jam Factory,
ภาพ Rabbit Digital Group โดย ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์